กรุงเทพมหานคร เรียกโดยย่ออีกอย่างว่า กรุงเทพ (อังกฤษ: Bangkok) เป็นเมืองหลวง นครและมหานครที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การเงินการธนาคาร การพาณิชย์ การสื่อสาร และความเจริญของประเทศ ตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านและแบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ทั้งหมด 1,568.737 ตร.กม. มีประชากรตามทะเบียนราษฎรราว 8 ล้านคน
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีตึกระฟ้ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 11 ของโลกใน พ.ศ. 2563[4] มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายในหลายรูปแบบทั้งด้านศาสนา ด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น พระบรมมหาราชวัง ด้านการจับจ่ายซื้อของ ศูนย์การค้าต่าง ๆ หรือสถานบริการกลางคืน เช่น สยามสแควร์ ถนนข้าวสาร ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างมากมาย โดยใน พ.ศ. 2562 ฟอบส์ ได้จัดอันดับให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นลำดับที่ 1 ของโลก โดยมีนักเดินทางเข้ามากว่า 22.78 ล้านคนและทำรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 2,003 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นลำดับที่ 3 ของโลก รองจากดูไบและมักกะฮ์ตามลำดับ[5]
กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษของประเทศไทย มิได้มีสถานะเป็นจังหวัด คำว่า “กรุงเทพมหานคร” นั้นยังใช้เรียกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครอีกด้วย มีโครงสร้างประกอบด้วยสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครมีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงเทพมหานครยังเป็นเพียงสถานีการค้าขนาดเล็กอยู่ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมามีขนาดเพิ่มขึ้นและเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง 2 แห่งคือ กรุงธนบุรี ใน พ.ศ. 2311 และกรุงรัตนโกสินทร์ใน พ.ศ. 2325 กรุงเทพมหานครเป็นหัวใจของการทำให้ประเทศสยามทันสมัยและเป็นเวทีกลางของการต่อสู้ทางการเมืองของประเทศตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 20 นครเติบโตอย่างรวดเร็วและปัจจุบันมีผลกระทบสำคัญต่อการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สื่อและสังคมสมัยใหม่ของไทย ในช่วงที่การลงทุนในเอเชียรุ่งเรือง ทำให้บรรษัทข้ามชาติจำนวนมากเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาคในกรุงเทพมหานคร ทำให้กรุงเทพมหานครเป็นกำลังหลักทางการเงินและธุรกิจในภูมิภาค นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งและสาธารณสุขระหว่างประเทศและกำลังเติบโตเป็นศูนย์กลางศิลปะ แฟชั่น และการบันเทิงในภูมิภาค อย่างไรก็ดี การเติบโตอย่างรวดเร็วของกรุงเทพมหานครขาดการวางผังเมือง ทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ ถนนที่จำกัดและการใช้รถส่วนบุคคลอย่างกว้างขวางส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดมากตลอดเวลา